A comparative study on erythrocyte sedimentation rate (ESR) measurement by ESR Fast Detector and MIX-RATE® X20 ESR analyser

 

Thanarat Kaewsawang

Haematology Unit, Clinical Pathology and Medical Technology Group, Nopparat Rajathanee Hospital,
679 Ram Inthra Road – The 13th Kilometre, Khan Na Yao Subdistrict, Khan Na Yao District,
Bangkok 10230 Thailand. Telephone: +66 (0) 81 234 4699 Facsimile: +66 (0) 2 548 1009
Email: songthanarat@gmail.com

 

Conflict of interest: The author declares that he has no conflicts of interest with the contents of this article.

 

Submitted: 

17 March 2021

Accepted:

25 March 2021

Published:

1 July 2021


 

Abstract

The erythrocyte sedimentation rate (ESR) is a commonly performed laboratory test for screening and monitoring the inflammatory, infectious, autoimmune and cancerous diseases. There are several methods for measuring the ESR, but the gold standard method is the Westergren method which is time-consuming and requires a large volume of blood sample. The aim of this study was to determine the ESR using ESR Fast Detector and MIX-RATE® X20 ESR analyser. Both methods were simultaneously applied to 80 blood samples. The ESR values measured by ESR Fast Detector were significantly higher than the ESR results obtained using MIX-RATE® X20 ESR analyser (p < 0.0001). Although both methods revealed a satisfactory correlation (R2 = 0.9327, p < 0.0001), the ESR values measured by ESR Fast Detector may be 18.7 mm/hr above or 10.4 mm/hr below the ESR results determined by MIX-RATE® X20 ESR analyser. In conclusion, the values of ESR measurements using ESR Fast Detector and MIX-RATE® X20 ESR analyser are not interchangeable and the method-specific reference ranges shall be implemented.        

Keywords: erythrocyte sedimentation rate; ESR Fast Detector; MIX-RATE® X20 ESR analyser


       

การศึกษาเปรียบเทียบการวัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงโดย ESR Fast Detector และ MIX-RATE® X20 ESR analyser

 

ธนรัตน์ แก้วสว่าง

งานโลหิตวิทยา กลุ่มงานพยาธิวิทยาคลินิกและเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

เลขที่ 679 ถนนรามอินทรา กิโลเมตรที่ 13 แขวงคันนายาว เขตคันนายาว จังหวัดกรุงเทพมหานคร

รหัสไปรษณีย์ 10230 ประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์มือถือ: +66 (0) 81 234 4699

หมายเลขโทรสาร: +66 (0) 2 548 1009 อีเมล์: songthanarat@gmail.com

 

ผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้นิพนธ์แจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเนื้อหาของบทความนี้

 

ส่งต้นฉบับ:

วันที่ 17 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

รับลงตีพิมพ์:

วันที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

ตีพิมพ์เผยแพร่:

วันที่ 1 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564


 

บทคัดย่อ

อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการคัดกรองและการติดตามโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ การติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันต้านตนเอง และมะเร็ง โดยการตรวจ ESR ทำได้หลายวิธี แต่วิธีมาตรฐานคือวิธี Westergren ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจนานและใช้เลือดปริมาณมาก ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดค่า ESR ด้วย ESR Fast Detector และ MIX-RATE® X20 ESR analyser โดยทั้งสองวิธีถูกนำมาใช้ตรวจกับตัวอย่างเลือดจำนวน 80 รายในเวลาเดียวกันแล้วพบว่า ค่า ESR ที่ได้จากการตรวจด้วย ESR Fast Detector สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลการตรวจ ESR ด้วย MIX-RATE® X20 ESR analyser (p < 0.0001) ถึงแม้ว่าผลการตรวจจากทั้งสองวิธีจะมีความสัมพันธ์กันอย่างสูง (R2 = 0.9327, p < 0.0001) ค่า ESR ที่ถูกวัดด้วย ESR Fast Detector อาจจะสูงหรือต่ำกว่าผลการตรวจ ESR ที่ถูกวัดด้วย MIX-RATE® X20 ESR analyser ประมาณ 18.7 และ 10.4 mm/hr ตามลำดับ ดังนั้นสรุปได้ว่าค่า ESR จากการตรวจวัดด้วย ESR Fast Detector และ MIX-RATE® X20 ESR analyser ไม่สามารถใช้แทนกันได้ ซึ่งการระบุค่าช่วงอ้างอิงที่จำเพาะของแต่ละวิธีการตรวจต้องถูกนำมาใช้ร่วมด้วยเสมอ

คำสำคัญ: อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง; ESR Fast Detector; MIX-RATE® X20 ESR analyser


 

บทนำ

อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง [Erythrocyte Sedimentation Rate (ESR)] หมายถึง การวัดระยะการตกของเม็ดเลือดแดงที่มีสารกันเลือดแข็งในหลอดเก็บตัวอย่างในช่วงเวลาที่จำกัด ใช้บ่งบอกภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ใช้ในการติดตามผลการรักษาและการติดตามอาการของโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรค Temporal arteritis โรค Rheumatoid arthritis และโรค Polymyalgia rheumatic เป็นต้น รวมถึงใช้ในการติดตามการกลับเป็นซ้ำ (Relapse) ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin's lymphoma หรือ Non-Hodgkin lymphoma ทั้งนี้อัตราการตกของเม็ดเลือดแดงในน้ำเลือด (Plasma) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ จำนวน รูปร่างและขนาดของเม็ดเลือดแดง และปริมาณของสารประกอบโปรตีนในเลือดซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Acute-phase reactants เช่น Fibrinogen และ Immunoglobulin เป็นต้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ESR เป็นการทดสอบที่ไม่มีความจำเพาะต่อโรค ค่า ESR ที่สูงกว่าปกติสามารถพบได้ในสตรีตั้งครรภ์ ภาวะที่มีการติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคของหลอดเลือดและคอลลาเจน (Collagen vascular diseases) โรคหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic heart disease) และโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงการติดเชื้อเฮชไอวี [Human immunodeficiency virus (HIV)] อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีค่า ESR สูงจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ในปัจจุบันการตรวจวัด ESR มีหลายวิธีถึงแม้ว่าค่าปกติของ ESR ที่ได้จากการตรวจแต่ละวิธีนั้นจะมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ(1-4) แต่ทุกวิธีการตรวจล้วนใช้หลักการตกตะกอนทั้งสิ้นเพียงต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น(5-11) โดยสิ่งส่งตรวจสำหรับ ESR คือตัวอย่างเลือดที่ได้จากการเจาะหลอดเลือดดํา (Venous blood) และผสมกับสารกันเลือดแข็ง (Anticoagulants) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ไม่ควรนำตัวอย่างเลือดที่ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นมาตรวจวัดค่า ESR อนึ่งผู้ป่วยไม่จําเป็นต้องอดอาหารเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมง (Fasting) ก่อนการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อการตรวจนี้(12)

วิธีการตรวจวัด ESR บางวิธีไม่เป็นที่นิยมแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากอาจเป็นวิธีที่มีขั้นตอนยุ่งยาก หรือผู้ตรวจมีโอกาสสัมผัสสิ่งติดเชื้อจากตัวอย่างเลือดได้ง่าย สำหรับวิธีการตรวจที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วิธี Classical Westergren วิธี Wintrobe-Landsberg และวิธี Barette micromethod แต่วิธีการตรวจที่ได้รับการยอมรับให้เป็นมาตรฐานสากลจาก International Committee for Standardisation of Haematology (ICSH) คือ วิธี Classical Westergren ซึ่งใช้อุปกรณ์เป็นหลอดแก้วสำหรับการวัดค่า ESR ที่เรียกว่า "Westergren tube" โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจวัดคือ 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามห้องปฏิบัติการสามารถใช้หลักการตกตะกอน (Sedimentation) จากหลากหลายวิธีสำหรับการตรวจวัด ESR ทว่าวิธีการเหล่านั้นยังคงมีข้อจำกัดอยู่มาก

การพัฒนาและปรับปรุงวิธีหรือเครื่องมือแบบใหม่สำหรับการตรวจวัด ESR ยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสะดวก ความปลอดภัย และความรวดเร็วมากกว่าวิธีมาตรฐานดั้งเดิม รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณงานการตรวจวัด ESR ที่เพิ่มขึ้น โดยวิธีหรือเครื่องมือใหม่นี้ยังคงให้ผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำ เช่น เครื่องตรวจวัด ESR อัตโนมัติรุ่น MIX-RATE® X20 ซึ่งใช้ลำแสงอินฟราเรด (Infrared beam) ในการตรวจ สำหรับข้อดีของการตรวจด้วยใช้เครื่องนี้คือ สามารถรายงานผลการตรวจได้เร็วภายในเวลา 30 นาที ส่วนวิธีการตรวจด้วย ESR Rack จะใช้มาตรวัด (Scale) สำหรับการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงภายในเวลา 30 นาที นอกจากนั้นยังมีการตรวจวัด ESR ด้วยเครื่องตรวจอัตโนมัติ Ves-Matic 20(13) เครื่องตรวจอัตโนมัติ Vesmatic easy เครื่องตรวจอัตโนมัติ iSED(14) และวิธีการตรวจแบบ micro-ESR(15)

ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการตรวจ ESR ที่ได้ระหว่างเครื่องตรวจวัด ESR อัตโนมัติรุ่น MIX-RATE® X20 กับ ESR Fast Detector ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบ ESR Rack เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นและการรับรองความน่าเชื่อถือของการใช้ ESR Fast Detector แทนเครื่องตรวจอัตโนมัติดังกล่าว หากเครื่องตรวจอัตโนมัติชำรุดหรือมีจำนวนไม่เพียงพอต่อปริมาณงานตรวจ ESR ซึ่งมีมากเกินกว่าขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจ

 

วัสดุและวิธีการ

รูปแบบการศึกษา:

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) ซึ่งรวบรวมจากผลการตรวจ ESR ด้วย ESR Fast Detector กับเครื่องตรวจวัด ESR อัตโนมัติรุ่น MIX-RATE® X20 ในระบบสารสนเทศทางห้องปฏิบัติการ [Laboratory information system (LIS)] ของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีตั้งแต่วันที่ 1 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ถึงวันที่ 29 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)

การเก็บตัวอย่าง:

ตัวอย่างเลือดที่ถูกเจาะเก็บจากผู้ป่วยของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจำนวน 80 ราย และใส่ในหลอดที่บรรจุสารกันเลือดแข็งชนิด Ethylenediaminetetraacetic acid (EDTA) (หลอดจุกสีม่วง) แล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยแพทย์ผ่านระบบสารสนเทศโรงพยาบาล [Hospital information system (HIS)] ในช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้น เมื่อตัวอย่างเลือดแต่ละรายมาถึงห้องปฏิบัติการแล้วจะถูกนำมาใส่ในหลอดที่บรรจุสารกันเลือดแข็งชนิด 3.2% Sodium citrate (หลอดจุกสีฟ้า) ก่อนทำการวัดค่า ESR ต่อไปด้วย ESR Fast Detector และ MIX-RATE® X20 ESR analyser ในเวลาเดียวกัน

การตรวจวัด ESR ด้วย ESR Fast Detector:

หลอดที่บรรจุตัวอย่างเลือดซึ่งผสมกับสารกันเลือดแข็งชนิด 3.2% Sodium citrate อย่างดีแล้วแต่ละหลอดจะถูกนำมาใส่ที่ ESR Rack โดยให้ระดับของตัวอย่างเลือดอยู่ที่ระดับ 0 ของมาตรวัดของ Rack จากนั้นตั้งทิ้งไว้ ณ อุณหภูมิห้อง (37 °C) เป็นระยะเวลา 30 นาที บันทึกระดับเม็ดเลือดแดงที่ตกตะกอนลงไปเมื่อสิ้นสุดเวลา

การตรวจวัด ESR ด้วย MIX-RATE® X20 ESR analyser:

ตัวอย่างเลือดซึ่งผสมกับสารกันเลือดแข็งชนิด 3.2% Sodium citrate อย่างดีแล้วแต่ละหลอดจะถูกนำมาใส่ในหลอดทดสอบสำหรับเครื่องนี้ จากนั้นนำหลอดทดสอบมาใส่ในแนวตั้งของ Reading plate โดยลำแสงอินฟราเรดจะวัดระดับเลือดตั้งแต่ตำแหน่งต่ำที่สุดจนถึงตำแหน่งสูงที่สุด แล้วเครื่องจะทำการตรวจวัดระดับเม็ดเลือดแดงที่ตกตะกอน

การวิเคราะห์ทางสถิติ:

ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลผลการตรวจ ESR ด้วยทั้งสองวิธีจะถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสถิติ GraphPad Prism® ที่อันตรภาคแห่งความเชื่อมั่น [Confidence interval (CI)] ร้อยละ 95

 

ผลการศึกษาและการอภิปราย

ค่า ESR ของตัวอย่างเลือดจำนวน 80 รายจากการตรวจวัดด้วย ESR Fast Detector (EFD) และ MIX-RATE® X20 ESR analyser (MRX20) มีลักษณะดังตารางที่ 1 โดยค่า ESR ที่ได้จากการตรวจด้วย EFD สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับผลการตรวจ ESR ด้วย MRX20 (Ratio paired t-test: t = 4.285, df = 79, p < 0.0001) (รูปที่ 1) ทั้งนี้มีตัวอย่างเลือดหลายรายที่ถูกพบว่าค่า ESR ที่ได้จากการตรวจทั้งสองวิธีนั้นมีความแตกต่างกันมากว่า 6 mm/hr ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ก่อนการตรวจวิเคราะห์ เช่น ปริมาตรของตัวอย่างเลือดที่ถูกเก็บมาในหลอดไม่ได้สัดส่วนตามมาตรฐานกับปริมาณของสารกันเลือดแข็งที่มีอยู่ในหลอดเก็บเลือดนั้น ทำให้การผสมของเลือดกับสารกันเลือดแข็งไม่ดีพอจนเป็นเหตุให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนั้นแล้วระยะเวลาที่เริ่มทำการตรวจวัด ESR ก็มีความสำคัญ หากการตรวจวัดนี้ทำหลังจากการเจาะเก็บเลือดเกิน 2 ชั่วโมง ค่า ESR ที่วัดได้นั้นอาจไม่สอดคล้องกับลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามค่า ESR ซึ่งถูกตรวจวัดด้วย EFD มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันที่สูงมากกับค่า ESR ที่ได้จากการตรวจด้วย MRX20 (Pearson's correlation coefficient: r = 0.9658, p < 0.0001) และสามารถคาดการณ์ค่า ESR ซึ่งตรวจวัดด้วย EFD เมื่อทราบค่า ESR จากการตรวจด้วย MRX20 โดยใช้สมการ y = 1.118x + 0.6649 ทั้งนี้ y คือ ค่า ESR จากการตรวจวัดด้วย EFD และ x คือ ค่า ESR จากการตรวจวัดด้วย MRX20 (Simple linear regression: R2 = 0.9327, p < 0.0001) (รูปที่ 2) อนึ่งค่าความแตกต่างของค่า ESR (mm/hr) จาก EFD เมื่อเทียบกับ MRX20 แสดงดังตารางที่ 1 ดังนั้นขีดจำกัดของความสอดคล้อง (Limits of agreement) ของค่า ESR จากการตรวจทั้งสองวิธีที่ 95% CI อยู่ระหว่าง 18.7 และ -10.4 นั่นคือค่า ESR ที่ถูกวัดด้วย EFD อาจจะสูงกว่าค่า ESR จากการตรวจวัดด้วย MRX20 ประมาณ 18.7 mm/hr หรือค่า ESR จากการตรวจด้วย EFD อาจจะต่ำกว่าค่า ESR เมื่อตรวจด้วย MRX20 ประมาณ 10.4 mm/hr ก็ได้ (รูปที่ 3)

 

สรุป

การตรวจวัด ESR ด้วย ESR Fast Detector และ MIX-RATE® X20 ESR analyser จะให้ผลการตรวจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจึงไม่สามารถใช้ค่า ESR จากทั้งสองวิธีนี้แทนกันได้ จึงต้องมีการระบุค่าช่วงอ้างอิง (Reference ranges) ที่จำเพาะของแต่ละวิธีการตรวจเมื่อรายงานผลเสมอ

 

 

ตารางที่ 1 ค่า ESR (mm/hr) ของตัวอย่างเลือดผู้ป่วยจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจำนวน 80 ราย เมื่อทำการตรวจวัดด้วย ESR Fast Detector (EFD) และ MIX-RATE® X20 ESR analyser (MRX20)

 

รูปที่ 1 การเปรียบเทียบค่า ESR (mm/hr) ของตัวอย่างเลือดผู้ป่วยจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจำนวน 80 ราย เมื่อทำการตรวจวัดด้วย ESR Fast Detector (EFD) และ MIX-RATE® X20 ESR analyser (MRX20)

 

 

รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ของค่า ESR (mm/hr) จากการตรวจวัดด้วย ESR Fast Detector (EFD) และ MIX-RATE® X20 ESR analyser (MRX20) กับตัวอย่างเลือดผู้ป่วยจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจำนวน 80 ราย

 

 

รูปที่ 3 กราฟแสดงการเปรียบเทียบระหว่างการตรวจวัดค่า ESR (mm/hr) ด้วย ESR Fast Detector (EFD) และ MIX-RATE® X20 ESR analyser (MRX20) Bland and Altman plot สำหรับค่าความแตกต่างของค่า ESR (mm/hr) จาก EFD กับ MRX20 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ ESR (mm/hr) จากทั้งสองวิธี โดยกราฟนี้แสดงการวิเคราะห์ความสอดคล้องกันของผลการตรวจวัดค่า ESR (mm/hr) ด้วย EFD กับ MRX20 ของตัวอย่างเลือดผู้ป่วยของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจำนวน 80 ราย [Mean คือ ค่าเฉลี่ยของความแตกต่างของค่า ESR (mm/hr) จาก EFD เมื่อเทียบกับ MRX20 (ตารางที่ 1); SD คือ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ของค่าเฉลี่ยดังกล่าว]

 

กิตติกรรมประกาศ

        ผู้นิพนธ์ขอขอบคุณ นางสาวดวงใจ ตันติยาภรณ์ และบุคลากรของหน่วยงานโลหิตวิทยา กลุ่มงานพยาธิวิทยาคลินิกและเทคนิคการแพทย์การศึกษา โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ที่ให้การช่วยเหลือและการสนับสนุนทุกประการสำหรับการศึกษาครั้งนี้

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Bray WE. Sedimentation velocity of red blood cells. In: Bray WE, eds. Clinical Laboratory Methods. 5th ed. St Louis: Mosby, 1957:190-2.
  2. Ravel R. Miscellaneous diagnostic procedures. In: Richard R, eds. Clinical Laboratory Medicine: Clinical Application of Laboratory Data. 6th ed. St Louis: Mosby, 1995:639 - 49.
  3. Noe DA, Rock RC. Geriatrics. In: Noe DA, Rock RC, eds. Laboratory Medicine. 1st ed. Maryland: William & Wilkins, 1994:179-82.
  4. Diggs. Sedimentation rate. In: Miller SE, eds. A Textbook of Clinical Pathology. 6th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1960:47-50.
  5. Nelson DA, Morris MW. Basic examination of blood. In: Henry JB, eds. Clinical Diagnosis & Management by Laboratory Methods. 18th ed. Philadelphia: WB Saunders, 1991:553-603.
  6. Bull BS, Brailsford JD. The zeta sedimentation ratio. Blood 1972 Oct;40(4):550-9.
  7. Morris MW, Skrodzki Z, Nelson DA. Zeta sedimentation ratio (ZSA), a replacement for the erythrocyte sedimentation rate (ESR). Am J Clin Pathol 1975 Aug;64(2):254-6.
  8. Bucher WC, Gall EP, Becker PT. The zeta sedimentation ratio (ZSR) as the routine monitor of disease activity in general hospital. Am J Clin Pathol 1979 Jul;72(1):65-7.
  9. Saleem A, Jatari A, Yapit MK. Comparison of zeta sedimentation ratio with Westergren sedimentation rate. Ann Clin Lab Sci 1977 Jul;7(4):357-60.
  10. Barrett BA, Hill PT. A micromethod for erythrocyte sedimentation rate suitable for use on venous or capillary blood. J Clin Pathol 1980 Nov;33(11):1118.
  11. Giles RV. Theory and Problems of Fluid Mechanics and Hydraulics. Singapore: Kin Keong Printing, 1983:1-269.
  12. Fischbach FT. Blood studies. In: Fischbach FT, eds. A Manual of Laboratory & Diagnostic test. 5th ed. Philadelphia: Lippincott, 1992:23–146.
  13. พรวรีย์ ลำเจียกเทศ, ภานุวัฒน์ มิเดิง, มานพ จำรัส และอุไรวรรณ แก้วบวร. การวัดอัตราการตกของเม็ดเลือดแดงโดยเครื่องอัตโนมัติ Ves-Matic 20. วารสารโลหิตวิทยาและเวชศาสตร์บริการโลหิต 2543;10:283-92.
  14. นุชนาฎ สิทธิเดชผจญ, วรรณวิมล พันธุ์เพ็ง และสมพงษ์ ไชยชุมพล. การศึกษาความสัมพันธ์การวัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติระหว่างเครื่อง Vesmatic easy และ iSED. วารสารการแพทย์ศรีนครินทร์ 2560;32(suppl).
  15. ยศสมบัติ จังตระกูล, นิไรดา เจะเตะ, กมลชนก มูลลิสาร และคณะ. การตรวจอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดงด้วยวิธี micro-ESR เปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน Westergren. วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด 2561;30(3):408-17.